The Flintstones

นอกจากดิสนี่ย์ กับ วอร์เนอร์แล้ว ค่ายการ์ตูนอีกค่ายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงโดยเฉพาะหลังยุค 60 ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของการ์ตูนทีวี ก็คือ Hanna-Barbera ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1957 และเติบโตไปพร้อมกับวงการโทรทัศน์ของอเมริกัน ซึ่งผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมากเรื่องหนึ่ง ที่เด็ก ๆทั่วทั้งโลกรวมถึงในไทยรู้จักกันดี ก็คือ  The Flintstones หรือ มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์ นั่นเอง

มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1960 โดยเริ่มแพร่ภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน ทางสถานีโทรทัศน์ ABC ตัวเอกของเรื่องคือ เฟรด ฟลิ้นสโตน ชายหนุ่มวัยกลางคน พนักงานบริษัทที่แสนใจร้อน ขี้โวยวาย อาศัยอยู่กับภรรยาที่ชื่อวิลม่า และมีเพื่อนบ้านที่สนิทกันมากอย่างบาร์นี่ รับเบิ้ล และเบตตี้ ภรรยาของบาร์นี่ ซึ่งบอกแค่นี้ก็คงไม่มีอะไรแปลก ถ้าไม่กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในยุคหิน และเฟรดก็เป็นมนุษย์ยุคหิน ยุคสมัยที่มีไดโนเสาร์เพ่นพ่านอยู่เต็มไปหมด (แม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของเฟรด ก็เป็นไดโนเสาร์ชื่อ ดีโน่)

ซึ่งอันที่จริง ถ้าถอดเราเรื่องยุคหินออก การ์ตูนเรื่องนี้ก็คือเรื่องราวครอบครัวของมนุษย์ยุค 60 ชีวิตทำงาน ครอบครัว โยนโบว์ลิ่ง กลัวเมีย เพียงแต่เปลี่ยนบรรยากาศในเรื่องเป็นยุคหิน เครื่องมือต่างๆ ที่อยู่อาศัย ทำจากไม้และหิน รวมถึงนำเอาไดโนเสาร์มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ (แบบตัวเป็นๆ ด้วยนะ) ซึ่งต้องยอมรับว่า ความสนุกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือ การดูว่าเครื่องมือเครื่องไม้ยุคหินในเรื่อง มันทำงานอย่างไร แม้ในความเป็นจริง ยุคหินกับยุคไดโนเสาร์นั้นจะอยู่คนละยุคกัน แต่ในการ์ตูนก็อนุโลมให้อยู่ร่วมสมัยกัน ถือว่าหยวนๆ กันไป

นอกจากนี้ คาแรกเตอร์ของเฟรดเอง ก็มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ คำพูดติดปากอย่าง “ยัปป้าดัปป้าดู” เป็นประโยคที่หลายคนได้ยินแล้วนึกถึงเฟรดทันที แต่ถึงเฟรดจะห้าวเป้งแค่ไหน ก็ยังเป็นคนกลัวเมียอยู่ดี ซึ่งวิลม่าเองนี่แหละที่จะเป็นคนคอยแก้ปัญหาต่างๆ ในเรื่องให้เฟรด (เอาจริง เฟรดนี่เป็นพ่อบ้านใจกล้ายุคหินชัดๆ) แถมการเดินเรื่องยังมีการพัฒนาการตามลำดับ เมื่อต่อมาเฟรดและวิลม่ามีลูก เรื่องราวก็จะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นเรื่องชีวิตครอบครัวมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้ผลงานเรื่องนี้น่ารักและมีเสน่ห์จนเป็นที่จดจำจนถึงปัจจุบัน

นอกจากเวอร์ชั่นการ์ตูนทีวีความยาวถึง 166 ตอน (1960-1966) The Flintstones ยังเคยถูกนำมาสน้างเป็นหนังโรงคนแสดงในปี 1994 นำแสดงโดย จอห์น กู้ดแมน ตัวหนังลงทุนไป $46 ล้าน ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าเยอะเอาเรื่องอยู่ แต่กลับทำเงินทั่วโลกไปถึง $341.6 ล้าน เฉพาะอเมริกาก็ $130 ล้าน เป็นหนังทำเงินอันดับ 5 ของปีด้วย (เยอะโคตร) และหลังจากนั้น 6 ปี ก็มีภาค 2 ในชื่อ The Flintstones in Viva Rock Vegas เปลี่ยนนักแสดงนำเป็น Mark Addy และอัดต้นทุนการสร้างไปถึง $83 ล้าน แต่ภาคนี้กลับขาดทุน ทำเงินไปได้แค่ $59.5 ล้านแค่นั้นเอง (ในอเมริกาทำเงินไป $35 ล้าน) และนั่นก็เป็นการปิดตำนานของฟลินท์สโตนฉบับคนแสดงไปเลย

หลังจากที่ T้he Flintstones ประสบความสำเร็จในหลายๆ ช่องทาง ทาง Hanna-Barbera ยังเอาแนวคิดของฟลิ้นท์สโตนส์ มาพัฒนาเป็นการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง The Jetsons ในปี 1962 ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนมุมกลับของฟลินท์สโตน แต่เปลี่ยนเป็นครอบครัวในยุคอนาคต ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือล้ำยุคแทน (บอกตามตรงว่า ผ่านไป 50 กว่าปีแล้ว เทคโนโลยีปัจจุบันยังตามเจ็ทสันไม่ทันเลย) และ Hanna-Barbera ยังเคยจับเอาตัวละครจากทั้งสองเครื่องมาครอสโอเวอร์กันในตอนพิเศษด้วยนะ ซึ่งในโอกาสต่อๆ เราคงจะมาพูดถึงการ์ตูนเรื่องเจ็ทสันกันอีกครั้งหนึ่ง